นิกายมหายาน

     สำหรับ พระพุทธศาสนานิกายมหายาน หลังพุทธศตวรรษที่ ๕ ไปแล้ว ได้เกิดมีนิกายใหญ่ในพุทธศาสนาขึ้นในอินเดีย ซึ่งเรียกตนเองว่า “มหายาน” มหายานเป็นคู่แข่งสำคัญของพวกพราหมณ์ในสมัยนั้น คณาจารย์ฝ่ายมหายานได้ปรับปรุงเพิ่มเติมคติธรรม ในพุทธศาสนาขึ้น หลายประการ เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของพราหมณ์ และเพื่อทำให้พุทธศาสนาเข้าถึงหมู่สามัญโดยทั่วไป ซึ่งมีข้อสำคัญ ดังต่อไปนี้
       ๑. ฝ่ายมหายาน ได้ยกหลักโพธิจิต คือ สอนให้ทุกคนตั้งความปรารถนาในโพธิญาณ ไม่ปรารถนาเพียงอรหัตญาณเท่านั้น หลักเรื่องพุทธการกธรรม คือคุณชาติเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นหัวใจในนิกายมหายาน กล่าวคือบุคคลตั้งมูลปณิธิปรารถนาพุทธภูมิ บุคคลนั้นเชื่อว่ามีโพธิจิต
       ๒. คณาจารย์ฝ่ายมหายานได้อรรถธิบายพุทธมติออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นปฏิฐานนิยม สัจจนิยม ขยายวงกว้างเป็น อภิปรัชญา และตรรกวิทยา
  อุดมคติ ๓ ประการ ของนิกายมหายาน
๑. หลักมหาปัญญา ใน หลักการข้อนี้ ฝ่ายมหายานได้อธิบาย หลักอนัตตา ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษในพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง มหายานนิยมเรียกคำว่า “ศูนย์ตา” แทนคำว่า “อนัตตา” ในส่วนปฏิบัติของบุคคล ถือว่าบุคคลจะพ้นทุกข์ได้ ก็ด้วยการเข้าถึง ศูนย์ตา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในหลักธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส

๒. หลักมหากรุณาหมาย ความว่า จะต้องเป็นผู้มีจิตใจกรุณาต่อเวไนยสัตว์ทั้งหลาย อย่างปราศจากขอบเขต พร้อมทั้งสละตนเองเพื่อช่วยเหลือเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ ซึ่งได้แก่ การตั้งโพธิจิตมุ่งสู่พุทธภูมิ ในขณะที่ยังมิได้บรรลุ ต้องสร้างบารมีเพื่อช่วยสัตว์ ฉะนั้นจึงเน้นเรื่องการบำเพ็ญบารมี ๖ ซึ่งประกอบด้วย
    • ทานปารมิตา
    • ศลีปารมิตา
    • ขันติปารมิตา
    • วิริยะปารมิตา
    • ฌาณปารมิตา
    • ปรัชญาปารมิตา

๓. หลักมหาอุปาย คือ พระโพธิสัตว์จะต้องประกอบด้วยกุศโลบายนานัปการ ในการช่วยเหลือ ปวงสัตว ์ ต้องประกอบด้วยไหวพริบ ปฏิภาณในการเข้าถึง อธิมุติของปวงสัตว์ หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่น ให้เข้าถึงสัจธรรม

  อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร ๔
  มหาจตุรปณิธาน ๔
         พระ โพธิสัตว์จะต้องมีคุณธรรม ๔ ประการ ที่เรียกว่า อัปปมัญญา แผ่ไปในสรรพสัตว์อันหาประมาณมิไดไม่เจาะจงหรือจำกัดมนุษย์ชาติใด ภาษาใด แม้สัตว์เดียรัจฉาน ไม่ว่าจะเล็กเท่าไรก็มีส่วนได้รับเมตตากรุณาจากคุณธรรมอันสูงนี้

๑. เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข
๒. กรุณา ความเอ็นดูสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ วางใจเป็นกลาง
         พุทธมามกะผู้มุ่งพุทธภูมิ จะต้องประกอบด้วย จตุรปณิธาน ๔ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ นำผู้ปฏิบัติ สู่จุดมุ่งหมาย

๑. เราจะละกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น
๒. เราจะตั้งใจศึกษาพระธรรมทั้งหลายให้เจนจบ

๓. เราจะโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔.เราจะบำเพ็ญตนให้บรรลุถึงอนุตตรสัมมาสัม โพธิญาณ

  นิกายสำคัญของมหายาน
        ในอินเดียมหายานมีปรัชญาแยกออกเป็น ๓ สาย และแบ่งออกตามทัศนะ ๓ นิกายด้วยกันคือ
         ๑. นิกายศูนยวาทหรือมาธยมิกะ
         ๒. นิกายวิชญานวาทหรือโยคาจาร
         ๓. นิกายจิตอมตวาท 

         และในยุคปลายๆ ยังมีอีกหนึ่งนิกายคือ นิกายพุทธตันตรยานหรือมนตรยาน ส่วนลัทธสุขาวดี และพิธีโยคกรรมธารณีของลัทธิพุทธตันตระ (ยกเว้นปรัชญา) เข้ากันได้กับทุกสาย ทั้งนี้ สุดแล้วแต่ผู้นับถือ จะฝักใฝ่ในปรัชญาสายใด ก็อธิบายเรื่องสุขาวดี หรือเรื่องเวทมนตร์อาคม ไปตามทัศนะของตนได้ เหตุที่เป็นดั่งนั้นก็เนื่องด้วยลัทธิสุขาวดี หาได้ตั้งกฎเกณฑ์ทางปรัชญา ไว้ไม่ นักปราชญ์บางท่านจัดนิกายสุขาวดีไว้ฝ่ายอัสติวาทิน ส่วนพิธีโยคกรรมแลธารณีมนตร์เล่า ก็เป็นเพียงการท่องบ่นและจัดลักษณะรูปพิธีต่างๆ เท่านั้น จึงเข้ากันได้กับทุกสาย ปรากฏว่า คณาจารย์ในปรัชญาทั้ง ๓ สายนั้น ยุคหลังส่วนใหญ่บำเพ็ญโยคกรรม ตามลัทธิพุทธตันตระ กันมาก 

          ครั้น เมื่อมหายานแพร่เข้าสู่ประเทศจีน ญี่ปุ่น พวกคณาจารย์จีนและญี่ปุ่นได้ตั้งนิกายและ สร้างทฤษฏีอธิบายพระพุทธมติกันมาก แต่ก็คงหนีไม่พ้นวงกรอบแห่งปรัชญาศูนยตวาทิน และ อัสติวาทิน ปรากฏว่านิกายที่คณาจารย์จีนและญี่ปุ่นคิดตั้งขึ้นใหม่นั้น ล้วนเป็นฝักฝ่ายภูตตถตา วาทิน ทั้งนั้น เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นจะเป็นด้วยในประเทศจีน ก่อนหน้าที่พระพุทธศาสนาจะแพร่ เข้าไป จีนได้มีปรัชญาลึกซึ้งของตนอยู่แล้ว เช่นปรัชญาของขงจื้อเหลาจื้อและจังจื้อ เป็นต้น ปรัชญาของเหลาจื้อกับจังจื้อ ไม่มีอะไรผิดแผกต่างจากปรัชญาฮินดูในคัมภีร์อุปนิษัทอันว่าด้วย ปรมาตมันเลยเหลาจื้อ จังจื้อ และนักปราชญ์อื่นๆ มักสอนมุ่งไปในมูลการณะ ของสรรพสิ่งว่า เป็นอมตภาวะมีธรรมชาติร่วมกับสรรพสิ่ง ฉะนั้น ความคิดของประชาชนจึงชินต่อเรื่อง ธรรมชาติเกีภาวะนี้ ส่วนญี่ปุ่นที่ได้รับอารยธรรมจากจีนจึงไม่มีข้อกังขาอันใดเลยว่า เหตุไฉน ปรัชญาฝ่ายภูตตถตาวาทินจึงเฟื่องฟูมากกว่าปรัชญาสายอื่นทั้งในเมืองจีนและ ญี่ปุ่น ตรงกันข้าม กับธิเบต แม้จะรับลัทธิพุทธตันตระมนตรยานไปนับถือก็จริง แต่ทางความคิดด้านปรัชญาแล้ว ข่าวธิเบตกลับนิยมปรัชญาฝ่ายศูนยตวาทินและโยคาจารมาก มีคณาจารย์แห่งธิเบตแต่งอรรถกถา และปกรณ์วิเศษประกาศมติของปรัชญาทั้ง ๒ สายนี้มากฉันใด คณาจารย์จีนและญี่ปุ่น ก็เขียน อรรถกถาขยายเรื่องเอกีภาวะของสรรพสิ่งอันเป็นมติของปรัชญาภูตตถตาวาทินมาก ฉันนั้น


          นิกาย มหายาน เมื่อยกนิกายศูนยตวาทินและโยคาจารแล้ว นิกายอื่นๆ ก็เป็นฝ่ายภูตตถตาวาทินทั้งสิ้น แม้นิกายสุขาวดีในจีนกับญี่ปุ่นก็ถูกอธิบายแพร่หลายโดยคณาจารย์ ฝ่ายภูตตถตาวาทินส่วนมาก อนึ่ง นิกายที่เจริญขึ้นในญี่ปุ่น ก็หนีไม่พ้นจากนิกายที่ตั้งขึ้นโดย คณาจารย์จีน ดังนั้นจักกล่าวแต่มหายานและนิกายที่ปรากฏในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ของจีน ธิเบต เวียตนาม เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นลำดับไป

ใส่ความเห็น